ประกาศข่าว :: ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บบล็อกเพื่อการศึกษาการถ่ายภาพเคลื่อนไหวกับเรา Toon Photo สอนถ่ายภาพ สไตล์ตูน
 

วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เคล็ดลับการถ่ายภาพเคลื่อนไหว

ภาพเคลื่อนไหว มักจะเป็นที่กล่าวขวัญกันเสมอๆ ในหมู่ของนักถ่ายภาพนักเล่นภาพ ทั้งมือใหม่มือเก่า หรือมือกลางเก่ากลางใหม่ แล้วภาพเคลื่อนไหวกับภาพไหวนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร
            โดยหลักการแล้ว การถ่ายภาพเคลื่อนไหว และการถ่ายภาพไหว เกิดจากสาเหตุคล้ายกัน คือ การถ่ายภาพในขนาดความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำกว่าปกติทั่วไป ซึ่งจะทำให้เกิดการไหวขึ้นในภาพ ถ้ากล่าวเช่นนี้แล้วการถ่ายภาพไหวกับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวก็เหมือนกันนะสิ หลายท่านอาจเข้าใจเช่นนั้น แต่โดยพิจารณาคุณภาพของภาพถ่ายแล้วไม่ใช่เป็นไปตามนั้น  ในการพิจารณาคุณภาพของภาพว่าเป็นภาพเคลื่อนไหว หรือเป็นภาพไหวนั้นจะกลับกันทันที ถ้าภาพเป็นภาพเคลื่อนไหวจัดเป็นภาพที่มีคุณภาพได้ แต่ถ้าเป็นภาพไหวโดยทั่วไปจัดเป็นภาพคุณภาพต่ำ เหตุผลนี้จะปรากฏเสมอๆ ในการตัดสินภาพประกวด
            ในการประกวดภาพกรรมการตัดสินจะพิจารณาภาพเคลื่อนไหว เป็นภาพที่เข้ารอบได้ แต่ถ้าเป็นภาพไหวมักจะเป็นภาพที่ตัดสินให้ตกรอบ เว้นเสียแต่ว่า กรรมการได้พิจารณาแล้วว่าการถ่ายภาพไหวนั้นจงใจถ่ายทำเพื่อให้ภาพมีศิลปะ
            ถ้าเช่นนั้นหมายความว่าอย่างไรครับ หลายท่านอาจจะเริ่มงงกับคุณลักษณะของภาพ เอาเป็นว่าการพิจารณาภาพก็คงต้องขึ้นอยู่กับความรู้สึกของการชมภาพ ว่าภาพถ่ายนั้นดูแล้วให้ความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหว ตัดสินกันด้วยความรู้สึกก็ว่าได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
 
           ภาพที่ 1 ดูผ่านๆ ก็พบว่าน่าจะเป็นภาพดีมีคุณภาพพอใช้ได้ แต่ถ้านำภาพนี้มาพิจารณาจะพบว่าเป็นภาพที่เกิดจากการสั่นไหวของกล้องซึ่งถ้านำมาขยายใหญ่จะยิ่งพบว่าอาการสั่นไหวจะยิ่งเห็นได้ชัดเจนขึ้น และอาการไหวจะเกิดการไหวทั้งภาพ เกิดจากการสั่นไหวของกล้องถ่ายภาพ หรือเกิดจากการไหวตัวของวัตถุ  ภาพลักษณะนี้คือ ภาพไหว

          ภาพที่ 2 เป็นภาพที่แสดงถึงการเคลื่อนไหววัตถุ พิจารณาภาพทั้งภาพจะพบว่าเป็นภาพที่ถ่ายโดยกล้องไม่ได้สั่นไหว พิจารณาได้จากภาพจะมีส่วนที่แสดงถึงความคมชัดอยู่ในภาพ แต่มีการเคลื่อนไหวของวัตถุที่ถ่ายภาพ ถ้าเป็นภาพลักษณะนี้เราจะพิจารณาเป็นภาพเคลื่อนไหวได้
 หลักการในการถ่ายภาพเคลื่อนไหว
            ในการจะสรรค์สร้างภาพถ่ายประเภทเคลื่อนไหว มีเคล็ดลับที่ไม่ยุ่งยากมากมายอะไรในการที่ทุกท่านจะลองฝึกหัดได้โดยไม่ยากนัก การที่จะเรียกว่าเป็นเคล็ดลับนั้น เนื้อแท้แล้วก็คงจะไม่ใช่เคล็ดลับที่ยุ่งยากแต่อย่างใด ประสบการณ์ในการถ่ายภาพ การใช้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถนำมาใช้โดยมีหลักการง่ายๆ ดังนี้
            1. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของภาพอย่างถ่องแท้ การที่ท่านจะสรรค์สร้างภาพเคลื่อนไหว ท่านจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของภาพเคลื่อนไหวก่อนว่าภาพมีลักษณะอย่างไรจึงจะจัดอยู่ในประเภทภาพเคลื่อนไหว (ไม่ใช่ภาพไหว) ซึ่งก็ได้แนะนำท่านไว้ก่อนหน้านี้แล้วเป็นอย่างแรก ประการต่อมาก็คือ การพิจารณางานที่ต้องการถ่ายภาพให้ชัดเจนก่อนว่าท่านจะกำหนดการเคลื่อนไหวของวัตถุอะไรบ้างในภาพ ซึ่งวิธีพิจารณาโดยทั่วไปมักจะกำหนดฉากต่างๆ ให้เป็นส่วนนิ่งอยู่กับที่เป็นส่วนชัดของภาพ โดยกำหนดให้จุดเด่นของภาพหรือวัตถุที่ท่านต้องการถ่ายภาพเป็นส่วนที่มีความเคลื่อนไหวอยู่ในภาพ และประการสุดท้าย คือ การกำหนดลักษณะของภาพในเชิงขององค์ประกอบให้เด่นชัดว่าส่วนประกอบที่จัดอยู่ในช่องมองภาพของท่านจะอยู่บริเวณใดบ้างในกรอบภาพนั้น
            2. เลือกขนาดความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสม อย่างที่กล่าวมาแล้วว่าภาพเคลื่อนไหวมีหลักการในการถ่ายภาพ คือ การลดขนาดความเร็วชัตเตอร์ให้ต่ำลง เพื่อให้ส่วนที่ท่านต้องการให้เกิดความเคลื่อนไหวอยู่ในภาพ เกิดการไหวตัวได้ แต่ขนาดความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมสำหรับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวนั้น ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าเป็นขนาดไหนจึงจะพอดีได้ ถ้าเช่นนั้นขนาดความเร็วชัตเตอร์ควรจะเป็นเท่าไร? ปัญหานี้มีวิธีการพิจารรณด้วยหลักการง่ายๆ ก็คือ โดยปกติถ้าท่านถือกล้องถ่ายภาพในขนาดความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ นั้นท่านจะถ่ายภาพไหว (แต่ละท่านอาจจะชำนาญไม่เท่ากัน บางท่านสามารถถือกล้องถ่ายภาพขนาดความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ ได้ถึง 1/15, 1/8, /1/4 วินาทีก็มี) การถ่ายภาพเคลื่อนไหวท่านก็เพียงแต่ลดความเร็วชัตเตอร์ให้ต่ำกว่าปกติประมาณ 1-3 สต็อป นั่นหมายความว่า ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำกว่า 1/15, 1/8, 1/4, 1/2 หรือแม้แต่ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1 วินาที ท่านก็มีโอกาสในการสรรค์สร้างภาพเคลื่อนไหวได้โดยไม่ยากนัก มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่งในการถ่ายภาพเคลื่อนไหวก็คือ ในการเลือกขนาดความเร็วชัตเตอร์นั้นยังขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของวัตถุที่ท่านต้องการถ่ายภาพด้วยว่าวัตถุนั้นมีความเร็วในการเคลื่อนไหวอย่างไร ถ้าวัตถุนั้นมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ท่านอาจจะต้องเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ให้สูงขึ้น แต่ถ้าวัตถุมีการเคลื่อนไหวช้าลงความเร็วชัตเตอร์ก็จะถูกกำหนดให้ช้าลงตามด้วย  อย่างเช่น สมมุติว่าท่านถ่ายภาพกีฬาที่มีการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว  ถ้าท่านใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำจนเกินไปจะทำให้ภาพเคลื่อนไหวเบลอมากเกินไปจนดูไม่รู้เรื่องว่าการเคลื่อนไหวนั้นเป็นอย่างไร ในกรณีเช่นนี้ ท่านอาจจะต้องปรับความเร็วชัตเตอร์ให้สูงขึ้น หรือการแสดงบนเวทีที่การเคลื่อนไหวของวัตถุไม่รวดเร็ว ถ้าท่านใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงไป การเคลื่อนไหวอาจจะน้อยเกินไปจนขาดความรู้สึก ดังนั้นการคาดคะเนความเร็ววชัตเตอร์ที่เหมาะสมจึงขึ้นอยู่กับความสังเกตและประสบการณ์ ในการถ่ายภาพแต่ละแบบแล้วจึงเลือกขนาดความเร็วชัตเตอร์ ซึ่งท่านอาจจะแปรผันความเร็วชัตเตอร์เผื่อสำหรับการถ่ายภาพสามระดับ แล้วจึงนำมาเปรียบเทียบกันอีกครั้งหนึ่งประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้เกิดความชำนาญและมีความแม่นยำที่สูงขึ้นเช่นกัน

            3. พยายามเลือกใช้ขาตั้งกล้องในการถ่ายภาพ เนื่องจากการถ่ายภาพเคลื่อนไหว ท่านจำเป็นที่จะเลือกขนาดความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำสำหรับการถ่ายภาพ การเลือกใช้ขาตั้งกล้องในการถ่ายภาพจึงเป็นวิธีการที่สะดวกในการควบคุมกล้องให้อยู่นิ่งได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ท่านลั่นไกชัตเตอร์ การถือกล้องด้วยมือในการถ่ายภาพหลายท่านอาจจะสามารถถ่ายภาพได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มโอกาสให้กล้องไหวได้เช่นกัน ดังนั้นภาพถ่ายของท่านอาจจะได้ทั้งส่วนเคลื่อนไหว และภาพไหว ในเวลาเดียวกัน ขาตั้งกล้องจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้
            4. เลือกจังหวะในการกดชัตเตอร์ การสร้างสรรค์ภาพเคลื่อนไหว ภาพของท่านจะดูให้ความรู้สึกที่เด่นชัดได้ดี คือการรอจังหวะในการกดชัตเตอร์ การคาดการเคลื่อนไหวไว้ล่วงหน้าสักนิด รอเวลาการกดชัตเตอร์ในขณะที่มีทั้งส่วนหยุดนิ่งในภาพและการเคลื่อนไหวในภาพ จะช่วยให้ท่านสร้างสรรค์ภาพได้ดีขึ้น
            5. ท่านสามารถใช้แฟลชช่วยในการสร้างภาพเคลื่อนไหวได้ ในกรณีที่ท่านต้องการเสริมแฟลชในการถ่ายภาพเคลื่อนไหวนั้น ท่านก็สามารถทำได้ไม่ยากนัก การคำนวณระยะทางที่สัมพันธ์กับขนาดรูรับแสง โดยลดความเร็วชัตเตอร์ลง ท่านก็สามารถสร้างสรรค์งานถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้ด้วยแฟลชเช่นกัน และถ้ากล้องของท่านเป็นระบบแฟลชอัตโนมัติ วัดแสงแฟลชผ่านเลนส์นั้นยิ่งจะเป็นการสะดวกยิ่งขึ้น และเช่นเดียวกันในกล้องถ่ายภาพหลายรุ่นที่มีระบบแฟลชที่ความเร็วชัตเตอร์ต่ำให้เลือกว่าแฟลชจะยิงแสงก่อนชัตเตอร์ปิดหรือแฟลชจะยิงแสงตั้งแต่ชัตเตอร์เปิด (ในระบบ Slow Sync) ซึ่งภาพที่ได้จะมีผลแตกต่างกัน ถ้าแฟลชยิงแสงตั้งแต่ชัตเตอร์เริ่มเปิดนั้น หมายความว่าท่านจะได้ภาพจากแฟลชก่อนภาพเคลื่อนไหว แต่ถ้าแฟลชติดก่อนชัตเตอร์ปิด (Rear Sync Flash) นั้นหมายความว่าท่านจะได้ภาพเคลื่อนไหวก่อนภาพที่ได้จากแฟลช


            มาถึงขั้นนี้ท่านก็สามารถที่จะทดลองถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้โดยไม่ยากนัก จากวิธีการที่แนะนำมา แต่การสร้าสรรค์ภาพเคลื่อนไหวหาใช่มีวิธีการเพียงเท่านี้ก็หาไม่ การสร้างสรรค์ภาพเคลื่อนไหวทุกท่านสามารถที่จะอาศัยหลักการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเร็วชัตเตอร์ ในการดัดแปลงเพื่อใช้งานต่างๆ ได้หลายรูปแบบ และยังมีวิธีการสร้างภาพเคลื่อนไหวโดยใช้วิธีการอื่นๆ  อีกหลายรูปแบบ  อย่างเช่น การถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ด้วยการยิงแฟลชพิเศษ หรือการถ่ายภาพซ้อนหลายๆ ครั้ง โดยใช้ระบบถ่ายภาพซ้อนจะเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่มีผู้นิยมใช้กัน ซึ่งกรรมวิธีต่างๆ เหล่านี้ก็จะต้องขึ้นอยู่กับสมรรถนะของอุปกรณ์ และการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์จะทำให้ท่านสรรหาวิธีการถ่ายภาพแลกๆ สนุกๆ ได้มากมาย ถ้าท่านคิดได้ ถ่ายแล้วน่าสนใจอย่างไรอย่าลืมส่งมาบอกต่อท่านผู้อ่านท่านอื่นได้จะยิ่งดีครับ
Blogger Tips And Tricks|Latest Tips For Bloggers Free Backlinks