ประกาศข่าว :: ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บบล็อกเพื่อการศึกษาการถ่ายภาพเคลื่อนไหวกับเรา Toon Photo สอนถ่ายภาพ สไตล์ตูน
 

วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2555

หลักการในการถ่ายภาพเคลื่อนไหว



 หลักการในการถ่ายภาพเคลื่อนไหว
        ในการจะสรรค์สร้างภาพถ่ายประเภทเคลื่อนไหว มีเคล็ดลับที่ไม่ยุ่งยากมากมายอะไรในการที่ทุกท่านจะลองฝึกหัดได้โดยไม่ยากนัก การที่จะเรียกว่าเป็นเคล็ดลับนั้น เนื้อแท้แล้วก็คงจะไม่ใช่เคล็ดลับที่ยุ่งยากแต่อย่างใด ประสบการณ์ในการถ่ายภาพ การใช้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถนำมาใช้โดยมีหลักการง่ายๆ ดังนี้
            1. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของภาพอย่างถ่องแท้ การที่ท่านจะสรรค์สร้างภาพเคลื่อนไหว ท่านจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของภาพเคลื่อนไหวก่อนว่าภาพมีลักษณะอย่างไรจึงจะจัดอยู่ในประเภทภาพเคลื่อนไหว (ไม่ใช่ภาพไหว) ซึ่งก็ได้แนะนำท่านไว้ก่อนหน้านี้แล้วเป็นอย่างแรก ประการต่อมาก็คือ การพิจารณางานที่ต้องการถ่ายภาพให้ชัดเจนก่อนว่าท่านจะกำหนดการเคลื่อนไหวของวัตถุอะไรบ้างในภาพ ซึ่งวิธีพิจารณาโดยทั่วไปมักจะกำหนดฉากต่างๆ ให้เป็นส่วนนิ่งอยู่กับที่เป็นส่วนชัดของภาพ โดยกำหนดให้จุดเด่นของภาพหรือวัตถุที่ท่านต้องการถ่ายภาพเป็นส่วนที่มีความเคลื่อนไหวอยู่ในภาพ และประการสุดท้าย คือ การกำหนดลักษณะของภาพในเชิงขององค์ประกอบให้เด่นชัดว่าส่วนประกอบที่จัดอยู่ในช่องมองภาพของท่านจะอยู่บริเวณใดบ้างในกรอบภาพนั้น
            2. เลือกขนาดความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสม อย่างที่กล่าวมาแล้วว่าภาพเคลื่อนไหวมีหลักการในการถ่ายภาพ คือ การลดขนาดความเร็วชัตเตอร์ให้ต่ำลง เพื่อให้ส่วนที่ท่านต้องการให้เกิดความเคลื่อนไหวอยู่ในภาพ เกิดการไหวตัวได้ แต่ขนาดความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมสำหรับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวนั้น ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าเป็นขนาดไหนจึงจะพอดีได้ ถ้าเช่นนั้นขนาดความเร็วชัตเตอร์ควรจะเป็นเท่าไร? ปัญหานี้มีวิธีการพิจารรณด้วยหลักการง่ายๆ ก็คือ โดยปกติถ้าท่านถือกล้องถ่ายภาพในขนาดความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ นั้นท่านจะถ่ายภาพไหว (แต่ละท่านอาจจะชำนาญไม่เท่ากัน บางท่านสามารถถือกล้องถ่ายภาพขนาดความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ ได้ถึง 1/15, 1/8, /1/4 วินาทีก็มี) การถ่ายภาพเคลื่อนไหวท่านก็เพียงแต่ลดความเร็วชัตเตอร์ให้ต่ำกว่าปกติประมาณ 1-3 สต็อป นั่นหมายความว่า ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำกว่า 1/15, 1/8, 1/4, 1/2 หรือแม้แต่ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1 วินาที ท่านก็มีโอกาสในการสรรค์สร้างภาพเคลื่อนไหวได้โดยไม่ยากนัก มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่งในการถ่ายภาพเคลื่อนไหวก็คือ ในการเลือกขนาดความเร็วชัตเตอร์นั้นยังขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของวัตถุที่ท่านต้องการถ่ายภาพด้วยว่าวัตถุนั้นมีความเร็วในการเคลื่อนไหวอย่างไร ถ้าวัตถุนั้นมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ท่านอาจจะต้องเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ให้สูงขึ้น แต่ถ้าวัตถุมีการเคลื่อนไหวช้าลงความเร็วชัตเตอร์ก็จะถูกกำหนดให้ช้าลงตามด้วย  อย่างเช่น สมมุติว่าท่านถ่ายภาพกีฬาที่มีการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว  ถ้าท่านใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำจนเกินไปจะทำให้ภาพเคลื่อนไหวเบลอมากเกินไปจนดูไม่รู้เรื่องว่าการเคลื่อนไหวนั้นเป็นอย่างไร ในกรณีเช่นนี้ ท่านอาจจะต้องปรับความเร็วชัตเตอร์ให้สูงขึ้น หรือการแสดงบนเวทีที่การเคลื่อนไหวของวัตถุไม่รวดเร็ว ถ้าท่านใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงไป การเคลื่อนไหวอาจจะน้อยเกินไปจนขาดความรู้สึก ดังนั้นการคาดคะเนความเร็ววชัตเตอร์ที่เหมาะสมจึงขึ้นอยู่กับความสังเกตและประสบการณ์ ในการถ่ายภาพแต่ละแบบแล้วจึงเลือกขนาดความเร็วชัตเตอร์ ซึ่งท่านอาจจะแปรผันความเร็วชัตเตอร์เผื่อสำหรับการถ่ายภาพสามระดับ แล้วจึงนำมาเปรียบเทียบกันอีกครั้งหนึ่งประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้เกิดความชำนาญและมีความแม่นยำที่สูงขึ้นเช่นกัน


วิธีการถ่ายภาพเคลื่อนไหว (Movement) แบ่งย่อยได้3วิธีคือ
1. กล้องอยู่กับที่ แล้วถ่ายวัตถุที่เคลื่องไหว อาจใช้ความเร็วชัตเตอร์1/125วินาที 
2. กล้องเคลื่อนที่ โดยการส่าย(Pan) กล้องไปตามวัตถุ โดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/60 วินาที จะได้ภาพฉากหลังไหวพร่า ส่วนวัตถุที่ถ่ายไหวเล็กน้อย 
3. ใช้เลนส์ซูม โดยการกดชัตเตอร์พร้อมกับซูมไปด้วย ด้วยการหมุนซูมเข้าหาตัว หรือเรียกสั้นๆว่าระเบิดซูม ใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/10-1/20 วินาที จะเห็นเส้นภาพที่ไม่ชัดวิ่งออกจากกลางภาพ จะได้ภาพที่แสดงความเร็วอีกแบบหนึ่ง

ในการถ่ายภาพวัตถุที่เคลื่อนไหว สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ
1.ทิศทางการเคลื่อนไหวของวัตถุ ถ้าวัตถุวิ่งเข้าหากล้อง จะบันทึกความเคลื่อนไหวได้น้อยกว่าวัตถุที่เคลื่อนไหวตามแนวเฉียงหรือวิ่งผ่านหน้ากล้อง
2.ระยะห่างของวัตถุจากกล้อง ถ้าวัตถุที่จะถ่ายอยู่ไกล จะบันทึกความเคลื่อนไหวได้น้อยกว่าวัตถุที่อยู่ใกล้
3.เลนส์ของกล้องที่ใช้ ถ้าใช้เลนส์ที่มี Focal Length สั้น จะบันทึกความเคลื่อนไหวได้น้อยกว่าเลนส์ที่มี Focal Length ยาว
4.สังเกตความเร็วของวัตถุ ถ้าวัตถุเคลื่อนไหวต่างกัน การตั้งความเร็วชัตเตอร์ต้องเปลื่ยนไป วัตถุที่เคลื่อนไหวเร็วต้องตั้งความไวเร็วกว่าวัตถุท่่ีเคลื่อนไหวช้า








Blogger Tips And Tricks|Latest Tips For Bloggers Free Backlinks